การวางแผนศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น
ทำความรู้จักโรงเรียน
- HOME
- การวางแผนศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น
- ทำความรู้จักโรงเรียน
- บัณฑิตวิทยาลัย
สารบัญ
บัณฑิตวิทยาลัย
ในโรงเรียนของญี่ปุ่น โดยปกติภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนมักจะเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่เนื่องด้วยโลกาภิวัตน์ในมหาวิทยาลัย จำนวนหลักสูตรในบัณฑิตวิทยาลัยที่สามารถได้รับหน่วยกิตโดยใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากการเปิดภาคเรียนในเดือนเมษายนแล้ว โรงเรียนบางแห่งอาจใช้ระบบการเปิดภาคเรียนในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (กันยายนหรือตุลาคม)
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะทางที่เน้นด้านการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูงหลายสาขา เช่น บัณฑิตวิทยาลัยนิติศาสตร์และบัณฑิตวิทยาลัยครุศาสตร์
เนื่องจากคุณสามารถเรียนในฐานะนักศึกษาวิจัยที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการรับวุฒิการศึกษาได้เช่นกัน ดังนั้น โปรดเลือกโรงเรียนหรือรูปแบบการศึกษาต่อต่างประเทศที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของคุณ
ลักษณะเฉพาะของบัณฑิตวิทยาลัยในญี่ปุ่น
บัณฑิตวิทยาลัยในญี่ปุ่นแบ่งกว้างๆ ตามหน่วยงานที่ก่อตั้งออกเป็นก่อตั้งโดยรัฐบาล ท้องถิ่น และเอกชน
มีจำนวนการต่อตั้งโดยรัฐบาล 86 แห่ง ท้องถิ่น 89 แห่ง เอกชน 482 แห่ง และโรงเรียนเอกชนมีจำนวนมาก
ค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนโดยเฉลี่ยสำหรับปีแรกของมหาวิทยาลัยรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 820,000 เยน มหาวิทยาลัยท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 900,000 เยน และมหาวิทยาลัยเอกชนอยู่ที่ประมาณ 1,100,000 ล้านเยน
ค่าเล่าเรียนประจำปีสำหรับบัณฑิตวิทยาลัยในอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 1.6-3.5 ล้านเยน (คำนวณที่ 1 ดอลลาร์ = 130 เยน) และในอังกฤษจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านเยนถึง 4.5 ล้านเยน (คำนวณที่ 1 ปอนด์ = 150 เยน) ดังนั้น ค่าเล่าเรียนสำหรับมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจึงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอเมริกาและอังกฤษ
หลักสูตรปริญญาโทมีระยะเวลา 2 ปี และหลักสูตรปริญญาเอกมีระยะเวลา 5 ปี ในบางโรงเรียนจะเรียกระยะเวลา 2 ปีของหลักสูตรปริญญาโทว่า "หลักสูตรปริญญาเอกภาคต้น" และอีก 3 ปีที่เหลือเรียกว่า "หลักสูตรปริญญาเอกภาคปลาย"
สำหรับคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์หลักสูตร 6 ปี ซึ่งมีระยะเวลาเรียนของหลักสูตรปริญญาตรีเป็น 6 ปีนั้น จะไม่มีหลักสูตรปริญญาโท และระยะเวลาเรียนของหลักสูตรปริญญาเอกคือ 4 ปี
ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนของบัณฑิตวิทยาลัยในญี่ปุ่นนั้น โดยเบื้องต้นจะเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ยังมีการก่อตั้งโครงการที่ทำให้ได้รับวุฒิการศึกษาโดยใช้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้นด้วย
นอกจากนี้ โรงเรียนจำนวนมากในญี่ปุ่นเริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนเมษายน แต่ในบัณฑิตวิทยาลัยหลายแห่งมีการใช้ระบบการเปิดภาคเรียนในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เริ่มในเดือนกันยายนหรือตุลาคม)
บัณฑิตวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะทาง
คือหลักสูตรการศึกษาที่เน้นวัตถุประสงค์สำหรับฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทางระดับสูงที่สามารถแสดงบทบาท ทางสังคมและระดับสากลไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึง โลกาภิวัตน์ทางสังคมและเศรษฐกิจ
ก่อตั้งขึ้นโดยมีหลากหลายสาขา เช่น การอบรมนักฎหมาย (บัณฑิตวิทยาลัยนิติศาสตร์) การอบรมครู (บัณฑิตวิทยาลัยครุศาสตร์) การบัญชี บริหารธุรกิจ MOT (การบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ) นโยบายสาธารณะ สาธารณสุข เป็นต้น
โครงการที่ได้รับวุฒิการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ
เนื่องด้วยโลกาภิวัตน์ของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ในมหาวิทยาลัยและบัณฑิตวิทยาลัยมีการจัดตั้ง "โครงการที่ทำให้ได้วุฒิการศึกษาโดยเรียนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น" โดยที่การเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นจะไม่เป็นอุปสรรค แต่ในวิทยาลัยเทคนิค (KOSEN) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาไม่มีโครงการดังกล่าว
เกณฑ์ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่จำเป็น
TOEFL iBT | IELTS | |
---|---|---|
บัณฑิตวิทยาลัย | 75-80 | 6 |
คุณสามารถตรวจสอบหลักสูตรที่ได้รับวุฒิการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษได้จาก Excel ต่อไปนี้
*ข้อมูลนี้รวบรวมโดยการสำรวจมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญาในเดือนพฤษภาคม 2021
*สำหรับข้อมูลล่าสุด โปรดติดต่อโรงเรียนโดยตรง
คุณสมบัติการเข้าศึกษา
ในการเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
หลักสูตรปริญญาโทและหลักสูตรปริญญาเอก (ภาคต้น)
- เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 16 ปีของโรงเรียนในต่างประเทศ
*สำหรับการเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกที่ลงทะเบียนในรายวิชาสาขาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสัตวแพทยศาสตร์ ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 18 ปี - เป็นผู้ได้รับวุฒิการศึกษาที่เทียบเท่ากับปริญญาตรี โดยสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่มีระยะเวลาเรียน 3 ปีขึ้นไปในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ
*5 ปี สำหรับการเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกที่ลงทะเบียนในรายวิชาสาขาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสัตวแพทยศาสตร์ - เป็นผู้ได้รับปริญญาตรีจาก National Institution for Academic Degree and Quality Enhancement of Higher Education
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตร 16 ปี (18 ปีสำหรับการเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาเอกที่ลงทะเบียนในรายวิชาสาขาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ หรือสัตวแพทยศาสตร์) ในประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยการลงทะเบียนเรียนการศึกษาทางไกลในญี่ปุ่นที่จัดขึ้นโดยโรงเรียนสำหรับชาวต่างชาติ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรของโรงเรียนต่างประเทศในญี่ปุ่นที่ได้รับการกำหนดว่าเทียบเท่ามหาวิทยาลัยของต่างประเทศ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเฉพาะทางของสถาบันอาชีวศึกษาที่กำหนด
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาที่มีระบบการศึกษารูปแบบเก่า
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยสังกัดกระทรวงต่างๆ ของญี่ปุ่น เช่นสถาบันการป้องกันแห่งชาติของญี่ปุ่น, โรงเรียนหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่น หรือวิทยาลัยอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น
- เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีที่ได้รับการพิจารณาคุณสมบัติการเข้าศึกษาต่อเป็นรายบุคคลจากบัณฑิตวิทยาลัย
หลักสูตรปริญญาเอก (ภาคปลาย)
- เป็นผู้มีวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาโทวิชาชีพเฉพาะทาง
- เป็นผู้ได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าปริญญาโทหรือปริญญาโทวิชาชีพเฉพาะทางจากต่างประเทศ
- เป็นผู้ลงทะเบียนการศึกษาทางไกลในญี่ปุ่นที่จัดขึ้นโดยโรงเรียนสำหรับชาวต่างชาติ และได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าปริญญาโทหรือปริญญาโทวิชาชีพเฉพาะทาง
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรของโรงเรียนต่างประเทศในญี่ปุ่นที่ได้รับการกำหนดว่าเทียบเท่าบัณฑิตวิทยาลัยของต่างประเทศ และได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าปริญญาโทหรือปริญญาโทวิชาชีพเฉพาะทาง
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ และได้รับวุฒิการศึกษาเทียบเท่าปริญญาโท
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และทำงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไปในมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และได้รับการรับรองจากบัณฑิตวิทยาลัยว่ามีความสามารถด้านวิชาการเทียบเท่าผู้ที่มีวุฒิปริญญาโท
- เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 24 ปีที่ได้รับการพิจารณาคุณสมบัติการเข้าศึกษาต่อเป็นรายบุคคลจากบัณฑิตวิทยาลัย
นักศึกษาวิจัยคืออะไร??
นักศึกษาวิจัยเป็นสถานะสำหรับนักศึกษาภาคพิเศษที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ที่เข้าศึกษาเพื่อทำวิจัยระยะสั้นโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อวุฒิการศึกษา (ส่วนมากเป็นระดับบัณฑิตวิทยาลัย)
- เป็นผู้ที่เข้าศึกษาในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้นตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย)
- เป็นผู้ที่เข้าศึกษาในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาในหลักสูตรปกติของบัณฑิตวิทยาลัย (ส่วนมากเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี)
การคัดเลือก : ส่วนใหญ่คัดเลือกโดยเอกสาร แต่ก็มีบางแห่งเรียกสัมภาษณ์เช่นกัน
สถานภาพการพำนัก : นักศึกษาวิจัยที่เข้าฟังการบรรยายเพียงอย่างเดียวจะต้องเข้าเรียนสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อให้ได้สถานภาพการพำนักเป็น "Student"
นอกจากนี้ นักศึกษาวิจัยที่ไม่ได้เข้าฟังการบรรยายในห้องเรียนและทำวิจัยโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนต้องมีสถานภาพพำนักประเภท "Cultural Activities"
การจัดทำแผนการวิจัย การค้นหาอาจารย์ที่ปรึกษา การสมัคร การสอบเข้า
การจัดทำแผนการวิจัย
แผนการวิจัย คือ เอกสารที่กำหนดหัวข้อวิจัยและสรุปว่าจะทำวิจัยภายใต้หัวข้อดังกล่าวอย่างไร บัณฑิตวิทยาลัยเกือบทุกแห่งกำหนดให้ยื่นแผนการวิจัย
รูปแบบการเขียนกับจำนวนตัวอักษรของแผนการวิจัยจะแตกต่างกันในแต่ละสถานศึกษา โดยทั่วไปจะมีจำนวนประมาณ 2,000 ตัวอักษร
สิ่งที่สำคัญในการเขียนแผนการวิจัยคือการค้นหาผลงานวิจัยในด้านที่ตนต้องการวิจัยเพื่อค้นคว้าว่างานวิจัยในด้านนั้นก้าวหน้าไปถึงขั้นไหน และมีเรื่องใดบ้างที่ยังเหลืออยู่
เนื้อหาของแผนการวิจัย ได้แก่ ①วัตถุประสงค์ของการวิจัย ②ที่มา ③ความสำคัญ ④วิธีการ ⑤เอกสารอ้างอิง นอกเหนือจากแรงจูงใจในการวิจัย ความสามารถในการค้นหาประเด็น ความสามารถในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ และความสามารถในการคิดเชิงตรรกะ ความรู้เฉพาะทางในสาขาวิชา ยังเป็นประเด็นในการพิจารณาอีกด้วย
ค้นหาบทความ : CiNii Articles (เว็บไซต์ภายนอก)
สำหรับผู้ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการเขียนแผนการวิจัยและการเตรียมตัวสอบปากเปล่า ...
"วิธีจัดทำแผนการวิจัยภาคปฏิบัติ ฉบับที่ 2"
เขียนโดย : JASSO
ตีพิมพ์โดย : บริษัท บงจินฉะ จำกัด (ขายในญี่ปุ่น)
ค้นหาอาจารย์ที่ปรึกษา
โดยพื้นฐานแล้ว คุณต้องค้นหาอาจารย์ที่ปรึกษาด้วยตนเอง ในบางโรงเรียนอาจจำเป็นต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาและขอความยินยอมล่วงหน้าก่อนสมัคร
คุณสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้จากอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษา ศิษย์เก่าที่ศึกษาต่อในญี่ปุ่น นอกจากจะให้พวกเขาแนะนำมหาวิทยาลัยที่คุณต้องการเข้าศึกษาแล้ว คุณยังสามารถค้นหาจากเว็บไซต์ได้อีกด้วย
กรณีที่ติดต่ออาจารย์หรือมหาวิทยาลัย ให้ระบุผลการวิจัยที่ผ่านมาของคุณ แผนการวิจัยในอนาคต และเหตุผลในการเลือกอาจารย์ท่านนั้นอย่างเป็นรูปธรรม และหากเป็นไปได้ ให้แนบจดหมายแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษามาด้วยจะดีมาก
อีกฝ่ายสามารถตัดสินคุณได้จากเอกสารเท่านั้น คุณจึงจำเป็นต้องโต้ตอบกับพวกเขาหลายครั้ง และถ่ายทอดความกระตือรือร้นของคุณ
เว็บไซต์ค้นหาผู้วิจัย : researchmap (เว็บไซต์ภายนอก)
เอกสารการสมัคร
การเข้าศึกษาต่อในบัณฑิตวิทยาลัยหลักสูตรปกติ อาจมีบางสถาบันที่ให้สอบเข้าหลักสูตรปกติได้โดยตรง และอาจมีบางสถาบันที่ต้องการให้ผ่านหลักสูตร "นักศึกษาวิจัย" ก่อนจึงจะสามารถศึกษาต่อในบัณฑิตวิทยาลัยหลักสูตรปกติได้
- เมื่อสมัครเรียนระดับบัณฑิตศึกษา โดยทั่วไปจะต้องส่งเอกสารดังต่อไปนี้
เอกสารที่จำเป็นอื่นๆ จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรงเรียน ดังนั้น โปรดสอบถามรายละเอียดกับสถาบันที่ต้องการเข้าศึกษา ใบสมัครเข้าเรียน (ตามแบบที่บัณฑิตวิทยาลัยกำหนด) - ใบรับรองการสำเร็จ (หรือคาดว่าจะสำเร็จ) การศึกษาปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย (กรณีที่สมัครเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาเอก จำเป็นต้องใช้ใบรับรองการได้รับ (หรือคาดว่าจะได้รับ) วุฒิปริญญาโทด้วย)
- ใบรับรองผลการศึกษาจากสถานศึกษาล่าสุด
- จดหมายแนะนำ
- บทคัดย่องานวิจัย (วิทยานิพนธ์) ที่ทำในมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษา
- แผนการวิจัย
- เอกสารอื่น ๆ
การสอบเข้า
การสอบเข้าบัณฑิตวิทยาลัยมักจะคัดเลือกโดยพิจารณาจากหัวข้อต่างๆ ประกอบกัน ได้แก่ การพิจารณาเอกสาร (เอกสารการสมัคร) การทดสอบความสามารถทางวิชาการ (การสอบข้อเขียน) การสัมภาษณ์ การเขียนบทความสั้นๆ หรือเรียงความ การสอบปากเปล่า เป็นต้น
วิธีการสอบจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานศึกษา ควรตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของสถานศึกษา
ค้นหาโรงเรียน
อยากเรียนอะไร(สาขาวิชาเอก)? อยากใช้ชีวิตในเมืองไหน?
ด้วยระบบค้นหาต่อไปนี้ คุณสามารถค้นหาตามเงื่อนไขที่คุณต้องการได้ เช่น สาขาวิชาเอกและที่ตั้งของโรงเรียน