การวางแผนศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น

ทำความรู้จักโรงเรียน

มหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) และวิทยาลัยอนุปริญญา

เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นแกนหลักของสถาบันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมีระยะเวลาศึกษา 4 ปีโดยหลักการ (แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์บางแห่งมีระยะเวลาศึกษา 6 ปี) ส่วนวิทยาลัยอนุปริญญามีระยะเวลาศึกษา 2 หรือ 3 ปีโดยหลักการ
หลังจากสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิ "ปริญญาบัณฑิต" หรือ "อนุปริญญาบัณฑิต"

นอกเหนือจากการศึกษาต่อต่างประเทศระยะยาวเพื่อรับวุฒิการศึกษาแล้ว โรงเรียนบางแห่งยังเปิดรับนักเรียนต่างชาติระยะสั้นที่ไม่ใช่นักศึกษาภาคพิเศษ เช่น นักศึกษา ที่เข้าเรียนโดยไม่นับหน่วยกิต นักศึกษา ที่ลงทะเบียนรายวิชาต่างๆ และนักศึกษา แลกเปลี่ยนต่างชาติ

โรงเรียนในญี่ปุ่นโดยทั่วไปจะเริ่มเรียนในเดือนเมษายน แต่มหาวิทยาลัยบางแห่งมีระบบการรับเข้าเรียนช่วงฤดูใบไม้ร่วง โดยเริ่มในเดือนกันยายนหรือตุลาคม

ลักษณะเฉพาะของมหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) และวิทยาลัยอนุปริญญา

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญาในญี่ปุ่นแบ่งกว้างๆ ตามหน่วยงานที่ก่อตั้ง ได้แก่ รัฐบาล ท้องถิ่น และเอกชน

สำหรับจำนวนการก่อตั้ง ระดับมหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) มีที่ก่อตั้งโดยรัฐบาล 86 แห่ง ท้องถิ่น 101 แห่ง เอกชน 620 แห่ง วิทยาลัยอนุปริญญามีที่ก่อตั้งโดยท้องถิ่น 14 แห่ง เอกชน 295 แห่ง และมีโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยเอกชนจำนวนมาก

ค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนทั้งหมดในปีแรกของมหาวิทยาลัยรัฐบาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 820,000 เยน มหาวิทยาลัยท้องถิ่นประมาณ 930,000 เยน และมหาวิทยาลัยเอกชนประมาณ 1,100,000 เยน (ยกเว้นแพทย์ ทันตะ และเภสัช)

ค่าเล่าเรียนประจำปีสำหรับมหาวิทยาลัยในอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 3.6-4.9 ล้านเยน (คำนวณที่ 1 ดอลลาร์ = 130 เยน) และสำหรับมหาวิทยาลัยในอังกฤษจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้าน-3.6 ล้านเยน (คำนวณที่ 1 ปอนด์ = 150 เยน) เมื่อเปรียบเทียบกับอเมริกาและอังกฤษ เรียกได้ว่าค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นค่อนข้างต่ำ

ที่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญาในญี่ปุ่น โดยทั่วไปจะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการก่อตั้งโครงการของมหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) ที่ทำให้ได้รับวุฒิการศึกษาโดยการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นด้วย

สำหรับความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญา (นอกเหนือจากโครงการที่สามารถได้รับวุฒิการศึกษาโดยใช้ภาษาอังกฤษ) มีเกณฑ์คือได้ N1 หรือ N2 ในการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น และได้ 250 คะแนนขึ้นไปในรายวิชาภาษาญี่ปุ่นของการสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น

คุณสมบัติการเข้าศึกษา

ในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) หรือวิทยาลัยอนุปริญญานั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 12 ปีในการศึกษาของโรงเรียนภาคปกติ
  2. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษา*1 ที่กำหนดไว้ หลังจากจบหลักสูตรของโรงเรียนที่เทียบเท่ากับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ไม่เกิน 12 ปี) ในต่างประเทศ
  3. เป็นผู้มีใบรับรอง International Baccalaureate, Abitur, Baccalaureate หรือ GCE A Level ซึ่งเป็นใบรับรองการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น
  4. เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีและผ่านการสอบวัดระดับความรู้เทียบเท่ากับการสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 12 ปีในต่างประเทศ (หากหลักสูตรมีระยะเวลาต่ำกว่า 12 ปี จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาที่กำหนดเพิ่มเติม)
    *โปรดติดต่อสถานทูตของแต่ละประเทศเพื่อตรวจสอบว่าการสอบวัดระดับความรู้ที่ผ่านนั้นเทียบเท่ากับการสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 12 ปีหรือไม่
  5. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องกับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นไปตามเงื่อนไข เช่น สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 11 ปีขึ้นไปที่กำหนดในต่างประเทศ
  6. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสำหรับชาวต่างชาติในญี่ปุ่น ที่กำหนดเทียบเท่ากับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของต่างประเทศ (ในกรณีที่หลักสูตรมีระยะเวลาต่ำกว่า 12 ปี จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาที่กำหนดเพิ่มเติม)
  7. ป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรของสถานศึกษาในต่างประเทศที่ได้รับการรับรองว่าเทียบเท่ากับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย
  8. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 12 ปีของสถานศึกษาที่ได้รับการรับรองโดยองค์กรประเมินผลระดับนานาชาติ (WASC, CIS (ECIS), ACSI)
  9. เป็นผู้ผ่านการสอบวัดระดับความรู้ว่าเทียบเท่าการสําเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (หากอายุต่ำกว่า 18 ปี จะเป็นผู้ผ่านการสอบการสอบวัดระดับความรู้ว่าเทียบเท่านับแต่วันต่อมาหลังจากที่อายุครบ 18 ปี)
  10. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนความต้องการพิเศษหรือชั้นปีที่ 3 ของวิทยาลัยเทคนิค (สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรปกติ 12 ปี)
  11. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายของสถาบันอาชีวศึกษาที่กำหนด
  12. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาที่มีระบบการศึกษารูปแบบเก่า
  13. เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติการเข้าศึกษาแบบรายบุคคลโดยมหาวิทยาลัย

* โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตในประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูว่าหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษามานั้นเป็นหลักสูตรในโรงเรียนแบบปกติหรือไม่ และเป็นหลักสูตรปีที่เท่าไร

*1 หลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาคืออะไร : เพื่อที่จะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น จำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตร 12 ปีขึ้นไปในการศึกษาของโรงเรียนแบบปกติ อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศและภูมิภาค อาจใช้ระยะเวลาไม่ถึง 12 ปีในการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในกรณีดังกล่าว จะสามารถได้รับคุณสมบัติในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย โดยสำเร็จการศึกษาจาก "หลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย" ที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เอกสารการสมัครและสอบเข้า

เอกสารการสมัครโดยทั่วไปมีดังนี้ เนื่องจากเอกสารที่จำเป็นสำหรับการสมัครแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับโรงเรียน ดังนั้น โปรดตรวจสอบกับสถาบันที่ต้องการเข้าศึกษา บางกรณีอาจต้องแปลเอกสารเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ

  • ใบสมัครเข้าเรียน (ตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด)
  • ใบรับรองการสำเร็จการศึกษา (หรือคาดว่าจะสำเร็จการศึกษา) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • ใบรับรองผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • จดหมายแนะนำจากผู้อำนวยการหรืออาจารย์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่สำเร็จการศึกษา
  • ใบรับรองความสามารถภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ
  • เอกสารอื่นๆ

โรงเรียนหลายแห่งจัดการสอบเข้าสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติ (นักศึกษาที่จะเรียนต่อต่างประเทศ)
นอกเหนือจากการคัดกรองเอกสาร การทดสอบระดับความรู้ และการสัมภาษณ์แล้ว บางโรงเรียนอาจกำหนดให้เข้ารับการสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น (EJU)

"คู่มือการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ใช้ทุนส่วนตัว"

คู่มือการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ใช้ทุนส่วนตัว

คู่มือที่รวบรวมข้อมูลที่มีค่า เช่น เนื้อหาการสอบเข้าในแต่ละมหาวิทยาลัย และจำนวนนักศึกษาที่ผ่านการสอบเรียนต่อต่างประเทศ

เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดย : ศูนย์วัฒนธรรมเอเชีย

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญาหลักสูตรวิชาชีพเฉพาะทางคืออะไร?

เป็นมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญาที่สามารถเรียนรู้ความรู้ ทฤษฎี และทักษะในการปฏิบัติจริงที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพเฉพาะทาง หลักสูตรนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ชุมชนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย ไม่เพียงแค่การบรรยายเท่านั้น แต่ยังมีการฝึกอบรมทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัยอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิ "ปริญญาบัณฑิต (วิชาชีพเฉพาะทาง)" และ "อนุปริญญาบัณฑิต (วิชาชีพเฉพาะทาง)"

โครงการที่ได้รับวุฒิการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษ

เนื่องด้วยโลกาภิวัตน์ของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ในมหาวิทยาลัยและบัณฑิตวิทยาลัยมีการจัดตั้ง "โครงการที่ทำให้ได้วุฒิการศึกษาโดยเรียนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น" โดยที่การเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นจะไม่เป็นอุปสรรค แต่ในวิทยาลัยเทคนิค (KOSEN) และวิทยาลัยอาชีวศึกษาไม่มีโครงการดังกล่าว

เกณฑ์ความสามารถทางภาษาอังกฤษที่จำเป็น

TOEFL iBT IELTS
มหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) 71-80 5.5-6

คุณสามารถตรวจสอบหลักสูตรที่ได้รับวุฒิการศึกษาเป็นภาษาอังกฤษได้จาก Excel ต่อไปนี้

*ข้อมูลนี้รวบรวมโดยการสำรวจมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอนุปริญญาในเดือนพฤษภาคม 2021
*สำหรับข้อมูลล่าสุด โปรดติดต่อโรงเรียนโดยตรง

เสียงจากรุ่นพี่

แม้ว่าจะเข้าเรียนในหลักสูตรที่ทำให้ได้วุฒิการศึกษาโดยเรียนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ถ้าเรียนสนทนาภาษาญี่ปุ่นในชีวิตประจำวัน ฮิรางานะ และคาตาคานะ จะช่วยให้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น และสะดวกในการหางาน
นอกจากนี้ ในบางประเทศอาจต้องมีประสบการณ์ในการเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อขอวีซ่า ดังนั้น โปรดตรวจสอบเอกสารการสมัครกับโรงเรียน

ระบบโอนหน่วยกิต

การโอนหน่วยกิตหมายถึง การที่ผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอนุปริญญาเข้าศึกษาใน มหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) กลางคัน
แม้ว่าจะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่มีระบบโอนหน่วยกิต แต่ก็ไม่ได้เปิดรับทุกปี นอกจากนี้ ระยะเวลาการศึกษาในวิทยาลัยอนุปริญญาที่สำเร็จการศึกษาและหน่วยกิตที่ได้รับอาจไม่ได้รับการยอมรับเสมอไป

ผู้ที่ต้องการโอนหน่วยกิตไปยังมหาวิทยาลัย (ปริญญาตรี) ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอนุปริญญาหรือวิทยาลัยเทคนิค
  • เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทางที่สถาบันอาชีวศึกษา
  • เป็นผู้สำเร็จหลักสูตรของโรงเรียนญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ (เทียบเท่าวิทยาลัยอนุปริญญา) ที่กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • เป็นผู้สำเร็จหลักสูตรระดับสูงของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการโอนหน่วยกิตจากแต่ละสถาบันมีน้อย โปรดสอบถามไปยังสถาบันที่ต้องการเข้าศึกษาโดยตรงอย่างรวดเร็วที่สุด

*ข้อมูลนี้เป็นข้อมูล ณ ปี 2020
*สำหรับข้อมูลล่าสุด โปรดติดต่อมหาวิทยาลัยโดยตรง

คุณสามารถค้นหาโรงเรียนและหลักสูตรที่มีระบบโอนหน่วยกิตไปยังหลักสูตรปริญญาตรี และนักศึกษาต่างชาติที่ใช้ทุนส่วนตัวสามารถสมัครได้ จากระบบต่อไปนี้

ค้นหาโรงเรียน

อยากเรียนอะไร(สาขาวิชาเอก)? อยากใช้ชีวิตในเมืองไหน?
ด้วยระบบค้นหาต่อไปนี้ คุณสามารถค้นหาตามเงื่อนไขที่คุณต้องการได้ เช่น สาขาวิชาเอกและที่ตั้งของโรงเรียน

ในเว็บไซต์นี้ จะทำการใช้คุกกี้เพื่อทำการนำเสนอการบริการที่ดีแก่ผู้ใช้งาน
กรณีที่จะรับข้อกำหนดคุกกี้ กรุณาคลิก“ยอมรับ”เกี่ยวกับการตั้งค่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุกกี้ กรุณาคลิกที่“ดูรายละเอียด”