การวางแผนศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น
ทำความรู้จักโรงเรียน
- HOME
- การวางแผนศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น
- ทำความรู้จักโรงเรียน
- สถาบันอาชีวศึกษา (หลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง)
สารบัญ
สถาบันอาชีวศึกษา (หลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทาง)
เป็นสถาบันอุดมศึกษาประเภทหนึ่ง มีการวางหลักสูตรอาชีวศึกษาเฉพาะทางในสถาบันอาชีวศึกษา เรียกว่า"วิทยาลัยอาชีวศึกษา"
เป็นองค์กรการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศิลปวิทยา และให้ผู้เรียนได้รับความรู้ เทคนิค และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตจริง
การศึกษามีทั้งหลักสูตรที่ได้รับวุฒิ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพ"ที่มีระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป หรือหลักสูตรที่จะได้รับวุฒิ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง" สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกฝนทักษะการทำงานที่สูงขึ้นซึ่งมีระยะเวลา 4 ปีขึ้นไป
ลักษณะเฉพาะด้านการศึกษา
วิทยาลัยอาชีวศึกษาสามารถแบ่งสาขาเป็น 8 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ①อุตสาหกรรม ②การเกษตร ③การดูแลทางการแพทย์ ④สุขอนามัย ⑤การศึกษาและสวัสดิการสังคม ⑥ธุรกิจพาณิชยการ ⑦เครื่องนุ่งห่มและคหกรรม ⑧วัฒนธรรมและศิลปวิทยาการ
สาขาวิชาที่สามารถศึกษาความรู้ที่จำเป็นเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ อาทิ
มัณฑนากร สถาปนิก วิศวกรระบบ ช่างเครื่อง พยาบาล นักโภชนาการ เชฟ ช่างทำขนม ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม ผู้ตรวจสอบบัญชี ล่ามและนักแปลภาษา พนักงานต้อนร้บบนเครื่องบิน พนักงานโรงแรม ผู้ดูแลเด็ก ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ แฟชั่นดีไซเนอร์ อนิเมเตอร์ ผู้กำกับ
ภาพยนตร์ นักออกแบบศิลป์ เกมครีเอเตอร์ นักออกแบบเครื่องประดับ เป็นต้น
ความสามารถด้านภาษาที่จำเป็น
ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากการเรียนการสอนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเป็นภาษาญี่ปุ่น ผู้เรียนต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- เป็นผู้ที่ศึกษาภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปในสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่นตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น (JLPT) ในระดับ N1 หรือ N2 ที่จัดสอบโดย Japan Educational Exchange and Services และ The Japan Foundation
- เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น หรือโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของญี่ปุ่นตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
- เป็นผู้ที่สอบการสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น (EJU) วิชาภาษาญี่ปุ่น (ผลรวมคะแนนการอ่าน การฟัง และการอ่าน-ฟัง) ได้ตั้งแต่ 200 คะแนนขึ้นไป
- เป็นผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ 400 คะแนนขึ้นไปจากการสอบวัดระดับความสามารถภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจ BJT ที่จัดสอบโดย Japan Kanji Aptitude Testing Foundation
คุณสมบัติในการเข้าศึกษา
ต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาในหลักสูตร 12 ปีจากสถานศึกษาในต่างประเทศ
- เป็นผู้มีอายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปีและผ่านการสอบวัดระดับความรู้เทียบเท่าการสำเร็จการศึกษาหลักสูตร 12 ปีจากต่างประเทศ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสำหรับชาวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองว่าเทียบเท่ากับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในต่างประเทศ
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศในหลักสูตร 11 ปีขึ้นไปที่รับรองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- เป็นผู้มีใบรับรอง International Baccalaureate ใบรับรอง Abitur ของเยอรมัน หรือใบรับรอง Baccalaureate ของฝรั่งเศส หรือเป็นผู้ที่มีคะแนนสอบ GCE A Level ตามที่ทางสถาบันกำหนด
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 12 ปีของโรงเรียนสำหรับชาวต่างชาติในประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการรับรองโดยองค์กรประเมินผลระดับนานาชาติ (WASC, CIS, ACSI, NEASC)
- เป็นผู้มีอายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปีและผ่านการสอบวัดระดับเทียบเท่าการสำเร็จวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- เป็นผู้มีอายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปีและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติการเข้าศึกษาต่อเป็นรายบุคคลโดยสถานศึกษาว่ามีความรู้เทียบเท่าหรือสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดตามกฎหมายการศึกษาในสถาบันการศึกษานอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้น
* สำหรับข้อ1-3 กรณีที่หลักสูตรไม่ถึง 12 ปี มีความจำเป็นต้องเข้าศึกษาในหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษาที่กำหนดไว้ หรือจบหลักสูตรในศูนย์ฝึกอบรมเพิ่มเติมก่อน
ค้นหาโรงเรียน
ประเด็นในการเลือกวิทยาลัยอาชีวศึกษา!
หัวข้อสำหรับเช็ค | รายละเอียด |
---|---|
เป็นโรงเรียนที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ | เป็นโรงเรียนที่ได้รับการรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจรับผิดชอบหรือไม่ เพราะหากไม่ได้รับการรับรอง เมื่อจบการศึกษาจะไม่ได้ วุฒิ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพ" หรือ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง" |
เนื้อหาการเรียนการสอนและจำนวนผู้สอน |
เป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนจะได้รับความรู้และเทคนิคที่ต้องการหรือไม่ ตรวจสอบสัดส่วนของจำนวนผู้เรียนและผู้สอน |
สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก |
มีที่ตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกทีพร้อมสำหรับการเรียนเทคนิคต่างๆ หรือไม่ เข้าร่วมโอเพ่นแคมปัส ตรวจสอบเว็บไซต์ของสถาบัน รูปถ่าย และเอกสาร |
การแนะนำ ให้คำปรึกษาเรื่องการหางานและเส้นทางของผู้จบการศึกษา | ตรวจสอบนโยบายแนะแนวการหางาน ที่ทำงานของศิษย์เก่า และดูว่าสามารถทำงานในสายงานที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่ |
ค่าเล่าเรียน | ตรวจสอบค่าเล่าเรียนปีแรก ค่าเล่าเรียนจนจบหลักสูตรทั้งหมด และช่วงเวลาในการชำระ |
ชื่อเสียงรอบข้าง | ลองใช้เครือข่ายของนักศึกษาต่างชาติและศิษย์เก่า |
- National Association of Vocational Schools of Japan
- ค้นหาวิทยาลัยอาชีวศึกษา (Metropolitan Tokyo Professional Institution Association)
- รายชื่อวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่รับนักเรียนต่างชาติ (Association for Technical and Career Education)
- รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในญี่ปุ่น (National Information Center for Academic Recognition Japan (NIC-Japan))
One Point Advice
ตรวจสอบเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา : ตรวจสอบกับสถาบันว่าเป็นหลักสูตรที่จะได้รับวุฒิ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพ" เมื่อจบการศึกษาหรือไม่
เอกสารการสมัคร
- ใบสมัครเข้าเรียน (ตามแบบที่วิทยาลัยกำหนด)
- ใบรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
- ใบรับรองผลการศึกษาจากสถานศึกษาล่าสุด
- ใบรับรองอัตราการเข้าเรียนและผลการเรียนจากสถาบันสอนภาษาญี่ปุ่น (กรณีอยู่ในประเทศญี่ปุ่น)
- ใบรับรองความสามารถภาษาญี่ปุ่น (กรณีอาศัยอยู่ในต่างประเทศ)
- เอกสารอื่นๆ
เอกสารที่ต้องใช้แตกต่างกันไปในแต่ละสถานศึกษา และอาจมีเอกสารที่ต้องแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษจึงควรสอบถามรายละเอียดโดยตรงกับสถาบันที่ต้องการเข้าศึกษา
การสอบเข้า
พิจารณาจากหลายอย่างประกอบกัน อาทิ ①เอกสารการสมัคร ②การทดสอบความสามารถทางวิชาการ ③การสัมภาษณ์ ④การเขียนเรียงความ ⑤การทดสอบความถนัด ⑥การทดสอบภาคปฏิบัติ ⑦การสอบวิชาภาษาญี่ปุ่น
การสอบเข้าทุกสาขาวิชาจะพิจารณาโดยยึดจาก ①ความตระหนักรู้ในเป้าหมายของตนเอง ②ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นในการติดตามเนื้อหาในชั้นเรียนและความสามารถทางวิชาการ ③ความมุ่งมั่นในการเรียนรู้
ความแตกต่างของประกาศนียบัตรวิชาชีพและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ | ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง | |
---|---|---|
เวลาที่ใช้ในการเรียน | 2 ปีขึ้นไป | 4 ปีขึ้นไป |
ชั่วโมงเรียน | 1,700 ชั่วโมงขึ้นไป | 3,400 ชั่วโมงขึ้นไป |
การอนุมัติจบหลักสูตร | อนุมัติให้จบหลักสูตรด้วยการประเมินผลการเรียนโดยดูจากผลการสอบ | |
โครงสร้างหลักสูตร | - | มีการวางหลักสูตรอย่างเป็นระบบ |
เส้นทางหลังจบการศึกษา | สาขาที่ได้วุฒิ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพ"จะได้รับการยอมรับให้เทียบโอนเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ | สาขาที่ได้วุฒิ "ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง" จะได้รับการยอมรับคุณสมบัติให้เข้าศึกษาต่อในบัณฑิตวิทยาลัยได้ |